How to กังวล อย่างไรไม่ให้ ปสด.

  • 5/08/2022

โดย สหรัฐ เจตมโนรมย์ Ph.D.candidate Counseling Psychology
ในสภาวะของการแพร่ระบาดของโควิf-19 สิ่งที่แพร่กระจายไปด้วยคือความวิตกวังวลใจของผู้คนมากหลายจนกลายเป็น #กูติดยังวะ ขึ้นมา วันนี้สถาบันวันที่ฉันตื่นมีวิธี กังวลอย่างไรไม่ให้ ‘ประสาทแดก’ หรือ Good Anxitey มาฝาก
1. กังวลไม่ใช่เรื่องผิดปกติ: สิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักตั้งคำถามกับตัวเองคือ นี่เราผิดปกติหรือเปล่า ซึ่งในทางจิตวิทยานั้น การมีความกังวลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และควรจะมีความกังวลในปริมาณที่เหมาะสมด้วย เพราะทำให้เกิดความระวังในชีวิต ถ้าไม่มีเลยก็ชิลไป แต่ถ้ามากไปก็เลยเส้นไปสู่ความระแวง
2. วัดระดับความกังวลของตัวเอง: ลองกลับมาสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจตัวเองตอนนี้เลยว่าจาก 0 ถึง 10 เราให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ ถ้า 0 คือ ไม่มีความกังวลใดๆ เลย และ 10 คือ กังวลระดับสุดสติแตกไปแล้ว เพื่อให้เห็นว่า จริงๆ แล้วตอนนี้ระดับความกังวลของเราอยู่ระดับไหน จะได้จัดการให้เหมาะสมต่อไป
3. แยก ระวัง - ระแวง: ให้กลับมาสังเกตว่า เรามักมีความคิดอย่างไรบ้าง เช่น ล้างมือหรือยัง หน้ากากมีพอหรือเปล่า ถ้าเป็นความคิดเหล่านี้คือความคิดที่ทำให้เกิดความระวัง แต่ถ้าคิดว่า เชื้อโรคมีอยู่เต็มไปหมด อีกหน่อยคนจะติดกันทุกคน เราป่วยแล้วจะทรมานมาก ลูกเราจะอยู่อย่างไร บลา บลา บลา... ทั้งที่ตอนนี้กำลังนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน ความคิดเช่นนี้คือความระแวงที่พาใจเราเตลิดไปเกินจริง ก็เพียงแต่รับรู้ว่าเรากำลังมีความคิดเลยเถิดไปแล้ว และกลับมาสู่ความระมัดระวังที่ไม่ประมาทเท่านั้น
4. เปลี่ยนจุดสนใจ: จากประสบการณ์ของการเป็นนักจิตวิทยาพบว่า ผู้คนจำนวนหนึ่งเป็นทุกข์กับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย แล้วถอยกลับมาไม่เป็น แถมพอเสพข่าวข้อมูลก็ยิ่งจมอยู่กับความคิดความรู้สึกอย่างถอนตัวไม่ขึ้น วิธีที่จะช่วยให้ถอนตัวออกจากความคิดคือเปลี่ยนความสนใจไปจดจ่อกับสิ่งอื่น โดยเฉพาะงานที่ต้องลงมือลงแรงเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ทำงานศิลปะ ออกกำลัง ทำกับข้าว งานฝีมือ ทำสวน จัดบ้าน จะช่วยให้คลายความฟุ้งซ่านลงไปได้
5. ถ้าไม่ไหวก็หาคนคุย: การได้พูดออกมาจะช่วยให้เห็นว่าเรากำลังเป็นอะไรอยู่ชัดเจนขึ้น บางคนแค่ได้ระบายได้สบายใจขึ้นได้แล้ว แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาการปรึกษาคืออีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีนักจิตวิทยาการปรึกษาที่เปิดให้บริการทั้งแบบพบหน้าและทางโทรศัพท์มากมาย (มีค่าบริการ) เช่น สถาบันวันที่ฉันตื่น, knowing mind, one man counselor และ Maitri Counseling Service เป็นต้น

ความรู้อื่นๆ

^